ข้ามไปที่เนื้อหา
  1. หน้าแรก/
  2. บรีส เบบี้/
  3. สิ่งควรรู้เกี่ยวกับแผ่นรองฉี่ทารก เลือกอย่างไร แบบไหนดี ใช้ยังไง
แผ่นรองฉี่ทารก

สิ่งควรรู้เกี่ยวกับแผ่นรองฉี่ทารก เลือกอย่างไร แบบไหนดี ใช้ยังไง

จังหวะสีฟ้า
แผ่นรองฉี่ทารก ซื้อแบบไหนดี? เรารวบรวมแผ่นรองฉี่ลูกทั้งแบบยาง แบบผ้า และแบบสำเร็จรูป พร้อมบอกข้อดีข้อเสีย ก่อนคุณพ่อคุณแม่จะตัดสินใจซื้อ

แผ่นรองฉี่ทารก ถือเป็นอีกหนึ่งของใช้จำเป็นสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ เพราะในช่วงที่ลูกต้องใส่ผ้าอ้อม หรือขณะกำลังเปลี่ยนผ้าอ้อม ลูกอาจเผลอขับถ่ายออกมาระหว่างนั้นได้ ทำให้แผ่นรองฉี่เป็นไอเทมกันเปื้อนชั้นดีที่ต้องมีติดบ้าน 

เราจึงได้รวบรวมวิธีการเลือกแผ่นรองฉี่ที่ดี เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายมาเป็นตัวช่วยสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังหาซื้อแผ่นรองฉี่ให้เจ้าตัวน้อย จะเลือกแผ่นรองฉี่อย่างไร มีกี่แบบบ้าง ไปดูกันเลย

วิธีการเลือกแผ่นรองฉี่

แผ่นรองฉี่ทารกในท้องตลาดมีให้เลือกมากมาย ทั้งขนาดที่ต่างกัน รวมไปถึงนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับวัสดุกันน้ำที่จะนำมาใช้เป็นทำเป็นแผ่นรองฉี่ เราจึงรวบรวมแผ่นรองฉี่แบบต่างๆ มาให้คุณพ่อคุณแม่พิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อ

ขนาดของแผ่นรองฉี่

แผ่นรองฉี่มีขนาดให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย ขนาดที่นิยมใช้กันแบบพอดีตัวทารก อาจเป็นขนาดเล็กแบบ 45x60 ซม. หรือใหญ่ขึ้่นมาหน่อยอย่าง 90x90 ซม. หรือบางบ้านอยากซื้อครั้งเดียวใช้ได้จนลูกโต ก็ขยับไปซื้อขนาดที่ใหญ่ขึ้นไปอีก แต่ในช่วงที่ลูกแรกเกิดใช้วิธีพับเป็น 2 ชั้นไว้ก่อน ซึ่งในส่วนนี้คุณพ่อคุณแม่อาจต้องตัดสินใจจากการใช้งานของตัวเองเป็นหลัก

วัสดุที่ใช้

วัสดุที่ใช้ผลิตแผ่นรองฉี่ มีด้วยกัน 3 ชนิดใหญ่ๆ คือ แบบผ้า แบบยาง และแบบกึ่งกระดาษ ซึ่งในปัจจุบันแผ่นรองฉี่ 1 แผ่น อาจทำจากวัสดุหลายชนิดผสมกัน เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องของทั้งความสะดวกสบายและการซึมซับน้ำที่ดี

1. แผ่นรองฉี่ที่ทำจากผ้า

มักมีส่วนผสมของผ้าฝ้าย ผ้ามัสลิน หรือผ้าคอตตอน เพื่อความนุ่มและอ่อนโยนต่อผิวเด็ก ไม่ทำให้ลูกร้อนเวลานอน โดยแผ่นรองฉี่แบบนี้มักผลิตเป็น 2 ชั้น คือชั้นบนเป็นผ้าสำหรับให้ลูกนอนทับได้สบายตัวไม่ระคายเคืองผิว ส่วนชั้นล่างอาจทำจากพลาสติก หรือวัสดุพิเศษที่ซึมซับน้ำได้ดี แต่ไม่แข็งเท่าพลาสติกแล้วแต่ยี่ห้อที่คุณพ่อคุณแม่จะเลือกซื้อ

2. แผ่นรองฉี่ที่ทำจากยาง

ส่วนใหญ่ทำมาจากยางพารา มีลักษณะทั้งแบบแผ่นเรียบบาง และแบบสุญญากาศที่มีความหนาเพิ่มขึ้นมา แผ่นรองฉี่แบบยางนี้ มีความสามารถในการกั้นการซึมเปื้อนได้อย่างดีเยี่ยม แต่ลูกอาจรู้สึกร้อนเวลานอนมากกว่าแบบผ้าที่ระบายอากาศได้ดี

3. แผ่นรองฉี่ที่ทำจากกระดาษ

แผ่นรองฉี่แบบนี้จะมีลักษณะคล้ายแพมเพิร์ส มีร่องและเกลียวช่วยซึมซับน้ำได้ดีมากประมาณ 4-5 ครั้ง ทั้งยังขนาดค่อนข้างบางทำให้ลูกไม่รู้สึกร้อน หรือเหนอะหนะผิว

แผ่นรองฉี่ที่พ่อแม่ชอบใช้

หลังจากได้ทำความรู้จักกับแผ่นรองฉี่ทารกกันไปแล้ว ว่ามีกี่ขนาด และทำจากอะไรบ้าง เราก็ได้รวบรวมแผ่นรองฉี่ที่พ่อแม่ชอบใช้ เพื่อเป็นตัวช่วยก่อนตัดสินใจซื้อสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ จะมีแบบไหนบ้าง ตามมาดูเลย

ผ้ารองฉี่คอตตอน 100%

หนึ่งในผ้ารองฉี่เด็กที่ได้รับความนิยมจากหลายๆ บ้านคือผ้ารองฉี่คอตตอน ซึ่งมอบความนุ่มสบายให้กับลูกในเวลานอน ไม่รู้สึกร้อน และไม่ระคายเคืองผิว ทั้งยังสะดวกกับพ่อแม่ที่ไม่จำเป็นต้องหาผ้ามาปูทับแผ่นรองฉี่อีกทีเพราะกลัวว่าลูกจะไม่สบายตัวเวลาสัมผัสกับผ้ารองฉี่แข็งๆ 

หลังจากลูกขับถ่าย ฉี่ของลูกจะซึมผ่านชั้นผ้าคอตตอนลงไปด้านล่างซึ่งเป็นชั้นกันน้ำ บางยี่ห้ออาจทำจากพลาสติก หรือบางยี่ห้อที่มีราคาสูงขึ้นหน่อยอาจใช้วัสดุพิเศษที่ช่วยในการกันน้ำแต่ไม่แข็งเท่าพลาสติก

ผ้ารองฉี่เยื่อไผ่

ผ้ารองฉี่แบบต่อมาที่ได้รับความนิยม ทั้งยังมีลักษณะคล้ายกับผ้ารองฉี่คอตตอน 100% คือผ้ารองฉี่เยื่อไผ่ โดยชั้นบนทำจากผ้าคอตตอนเช่นเดียวกัน มอบความนุ่มสบายเวลาลูกนอน แต่ชั้นด้านล่างจะมีลักษณะเป็นผ้าแบบบูเยื่อไผ่ที่มีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำได้ดี ทั้งมีน้ำหนักและพื้นผิวที่ทำให้ยึดเกาะกับผิวที่นอนได้ดีกว่าแบบพลาสติก ไม่เลื่อนหลุดง่ายเวลาเจ้าตัวน้อยขยับตัว

ผ้ารองฉี่ยางพารา

อีกหนึ่งชนิดของผ้ารองฉี่ที่ได้รับความนิยม คือผ้ารองฉี่ยางพารา ที่มักวางขายใน 2 รูปแบบ คือแบบเรียบบาง และแบบสุญญากาศ ซึ่งสาเหตุที่ได้รับความนิยมคือ ยางพาราเป็นวัสดุที่ทนทานและทำความสะอาดง่าย แต่อาจต้องนำผ้ามาปูทับก่อนที่จะเป็นชั้นยางพารา เพราะผิวเด็กไม่ควรสัมผัสกับยางพาราโดยตรง

แผ่นรองซับฉี่แบบใช้แล้วทิ้ง

แผ่นรองฉี่แบบใช้แล้วทิ้ง ถือเป็นอีกตัวเลือกสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ชื่นชอบความสะดวกรวดเร็ว เพราะหลังจากลูกขับถ่ายจนเต็มแผ่นแล้ว เพียงแค่ดึงออกมาทิ้ง แล้วเปลี่ยนแผ่นใหม่แทนที่ได้เลย ไม่จำเป็นต้องนำไปซักหรือรอเวลาตากแห้ง เพียงแต่แผ่นรองซับฉี่แบบนี้จะมีราคาค่อนข้างสูงกว่าแบบที่ใช้ซ้ำได้เท่านั้นเอง บ้านไหนเน้นความสะดวกสบายก็หาซื้อได้เลย

การใช้แผ่นรองฉี่

ใช้แผ่นรองฉี่ยังไง ให้ทารกสบายที่สุด

ตลอดวันลูกจะมีการขับถ่ายค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะทารกแรกเกิด ดังนั้นเราเลยมีเคล็ดลับที่อยากแนะนำคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย ที่จะทำให้การใช้แผ่นรองฉี่สะดวกสบายและปลอดภัยต่อผิวลูกที่สุด

เวลาที่ควรเปลี่ยนแผ่นรองฉี่

เวลาที่ควรเปลี่ยนแผ่นรองฉี่แบบผ้าหรือยางนั้น โดยทั่วไปมักขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของลูกเป็นสำคัญ ส่วนบ้านไหนที่ใช้แผ่นรองซับฉี่แบบใช้แล้วทิ้ง ควรเปลี่ยนเมื่อแผ่นรองฉี่เต็ม หรือเมื่อลูกขับถ่ายประมาณ 5 ครั้งหรือตามที่แต่ละยี่ห้อบอกไว้ที่ฉลากสินค้า

ทั้งนี้เป็นเพียงการประมาณช่วงเวลาคร่าวๆ เพื่อให้ผิวของลูกปลอดภัยและห่างไกลจากการอับชื้นหรือผดผื่นที่สุด อยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตเวลาที่ลูกขับถ่ายอยู่เสมอ เพื่อที่จะเปลี่ยนแผ่นรองฉี่ของลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับพฤติกรรมของเจ้าตัวน้อยมากที่สุด

วิธีทำความสะอาดแผ่นรองฉี่ (บรีส)

สำหรับแผ่นรองฉี่แบบต้องซัก - ควรเลือกใช้น้ำยาซักผ้าสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เพื่อมั่นใจว่า ปลอดภัย ลดโอกาสการระคายเคืองจากสารเคมี หรือส่วนผสมที่ก่อให้เกิดอาการแพ้อย่างสารฟอกขาว และสารย้อมสี น้ำยาซักผ้าเด็กที่ดีควรใช้สารทำความสะอาดต้นกำเนิดจากธรรมชาติ รวมถึงผ่านการทดสอบโดยแพทย์ผิวหนัง 

น้ำยาซักผ้าเด็กที่เราอยากให้คุณพ่อคุณแม่หามาลองใช้กัน คือน้ำยาซักผ้าบรีส เบบี้ ที่มีคุณสมบัติตรงกับที่กล่าวไปข้างต้น การซักแผ่นรองฉี่ด้วยน้ำยาซักผ้าบรีส จะทำให้คราบฉี่สลายง่าย ไม่ต้องใช้แรงในการขยี้ หมดกังวลเรื่องผ้ารองฉี่จะเป็นขุย ทั้งยังลดโอกาสที่ลูกจะเกิดผื่นแพ้อีกด้วย

สำหรับแผ่นรองฉี่แบบใช้แล้วทิ้ง - การทำความสะอาดค่อนข้างง่าย เพียงดึงแผ่นรองซับฉี่ที่เต็มแล้วออก พับเก็บให้ดีใส่ถุงนำไปทิ้งถังขยะ แล้วเปลี่ยนแผ่นใหม่แทนที่